VAA MENU
พื้นที่สำหรับเพิ่มมูลค่าสินค้า
สิทธิประโยชน์ของเขตปลอดอากร
รายชื่อผู้ประกอบการในเขตปลอดอากร
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจัดตั้งเขตปลอดอากร
 
 
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจัดตั้งเขตปลอดอากร
 
 

(1) สถานที่ที่ขอจัดตั้งเขตปลอดอากร ต้องอยู่ในบริเวณที่อธิบดีกรมศุลกากรเห็นว่าเหมาะสมและมีพื้นที่ต่อเนื่องกันและเป็นพื้นที่ที่กรมศุลกากรสามารถควบคุมการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรได้ โดยมีขนาดและสถานที่เหมาะสมกับประเภทกิจการ

1.1 กรณีสถานที่จัดตั้งเขตปลอดอากรเฉพาะเพื่อประกอบการอุตสาหกรรมต้องเป็น
• ผู้ที่ได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมให้เป็นผู้ประกอบการเขตประกอบการอุตสาหกรรม หรือ
• ผู้ที่ได้รับอนุมัติจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ให้เป็นเขตชุมชนอุตสาหกรรมประเภทอาคารโรงงานเอกเทศ หรือ
• ผู้ที่ได้รับอนุญาตจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้ใช้พื้นที่ในเขตอุตสาหกรรมทั่วไป หรือ
• ผู้ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนสำหรับกิจการเขตอุตสาหกรรมหรือกิจการเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์หรือกิจการเขตอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ หรือ
• ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบอุตสาหกรรมอื่นใดที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

1.2 กรณีการจัดตั้งเขตปลอดอากรเพื่อการพณิชยกรรม ต้องเป็นกิจการที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า/ ส่งออก ได้แก่
• การค้าหรือการบริการหรือการขนส่งระหว่างประเทศ
• การกระจายสินค้า คลังสินค้า การซื้อมาและขายไปหรือศูนย์กระจายสินค้าระหว่างประเทศ
• การแสดงสินค้าหรือนิทรรศการ การประชุมระหว่างประเทศ
• การซ่อมหรืองานด้านวิศวกรรม การตรวจสอบ วิเคราะห์ และรับรองคุณภาพของผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมหรือผลผลิตทางเกษตรกรรม
• กิจการอื่นที่อธิบดีเห็นว่าเป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้เขตปลอดอากรหนึ่งอาจเป็นเขตปลอดอากรเพื่อการประกอบอุตสาหกรรมหรือเพื่อการพาณิชยกรรมหรือเพื่อกิจการอื่นที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างในเขตเดียวกันก็ได้

(2) การจัดตั้งเขตปลอดอากรจะต้องไม่เป็นการจัดตั้งเพื่อประโยชน์ของผู้ประกอบกิจการในเขตปลอดอากรเพียงราย เดียวหรือรายใดรายหนึ่งโดยเฉพาะ

(3) เขตปลอดอากรต้องมีประตูเข้า–ออก และรั้วที่มั่นคงแข็งแรง เว้นแต่โดยสภาพของกิจการไม่จำเป็นต้องมีรั้ว หรือโดยสภาพแวดล้อมสามารถใช้สิ่งอื่นทดแทนรั้วได้

(4) ผู้ขอจัดตั้งเขตปลอดอากรต้องจัดให้มีสาธารณูปโภค ระบบควบคุมกำจัดมลพิษและรักษาสิ่งแวดล้อม สิ่งอำนวยความสะดวกและบริการที่จำเป็น และห้ามมิให้จัดตั้งที่อยู่อาศัยในเขตปลอดอากร

(5) ผู้ขอจัดตั้งเขตปลอดอากรต้องจัดให้มีสถานที่ อาคาร สิ่งก่อสร้าง เครื่องมือ เครื่องใช้ อุปกรณ์สำนักงานดังนี้

สถานที่อันควรสำหรับเป็นที่ทำการสำนักงานศุลกากร ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณที่เหมาะสม โดยมีอุปกรณ์สำนักงานและเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อเชื่อมโยงกับระบบคอมพิวเตอร์สำหรับการบริหารสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากรและระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็คทรอนิกส์ (Electronic Data Interchange : EDI) และ การจัดวางระบบสายสัญญาณสื่อสารที่ดีและมีประสิทธิภาพเพื่อใช้ในการควบคุมการรับมอบ–ส่งมอบ การขนย้าย การเก็บรักษา การควบคุมและตรวจปล่อยสินค้าด้วยระบบรหัสแถบเส้น (Bar Code System) หรือระบบควบคุมที่ทันสมัยอย่างอื่นตามที่กรมศุลกากรกำหนดและเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีระบบควบคุมสินค้าของผู้ประกอบกิจการภายในเขตปลอดอากร ตามมาตรฐานที่กรมศุลกากรกำหนด และอุปกรณ์เครื่องใช้ในสำนักงานเท่าที่จำเป็น

- สถานที่ตรวจของเข้า - ออกอยู่ในบริเวณเดียวกัน หรือบริเวณใกล้เคียงกับสำนักงานศุลกากรที่มีพื้นที่กว้างขวางเพียงพอกับการปฏิบัติงานพร้อมทั้งต้องจัดให้มีเครื่องมือเครื่องใช้สำหรับการตรวจสินค้าของเจ้าหน้าที่ ตามที่กรมศุลกากรกำหนด

- สถานีตรวจสอบ (Checking Post) ตั้งอยู่ในบริเวณที่เหมาะสม แยกช่องทางเข้าและออกซึ่งแต่ละช่องทางเข้า - ออก ความกว้างไม่น้อยกว่าช่องทางละ 3 เมตร และมีเครื่องชั่งน้ำหนัก อิเลคโทรนิคส์ประจำบริเวณช่องทางเข้า-ออก ที่เชื่อมโยงกับระบบคอมพิวเตอร์ได้ และมีบริเวณสถานที่จอดรถยนต์เพื่อตรวจยานพาหนะและสินค้าชั่วคราว และเครื่องอำนวยความสะดวกเครื่องมือเครื่องใช้ ที่ทันสมัยและจำเป็น เพื่อใช้ในการปฏิบัติงานและการควบคุม เช่น โทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ที่มีความสามารถในการบันทึกภาพเหตุการณ์ บุคคล หมายเลขทะเบียนยานพาหนะ หมายเลขตู้คอนเทนเนอร์ และหรือสิ่งของที่ผ่านเข้า - ออก และเปิดตรวจสอบข้อมูลภาพย้อนหลังได้ไม่น้อยกว่า 60 วัน และเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมโยงกับระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็คทรอนิกส์ (Electronic Data Interchange : EDI) ของกรมศุลกากร เป็นต้น ทั้งนี้ ตามความจำเป็นตามที่กรมศุลกากรกำหนด

- สถานที่อันควรสำหรับเป็นที่พักอาศัยของเจ้าหน้าที่ศุลกากรซึ่งอยู่นอกเขตปลอดอากร โดยอาจอยู่ในบริเวณเดียวกันหรือใกล้เคียงกับสำนักงานศุลกากรตามความเหมาะสม

(6) ผู้ได้รับอนุมัติจัดตั้งเขตปลอดอากรต้องดูแลรักษาสถานที่ ระบบ และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ได้จัดให้มีไว้ใช้ดังกล่าวข้างต้น และจะต้องดูแลข้อมูลคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย พร้อมที่จะให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจสอบตลอดเวลา รวมถึงการแก้ไขปรับปรุง การพัฒนาระบบ และจัดหาเพิ่มเติมตามที่กรมศุลกากรกำหนด

(7) ผู้ได้รับอนุมัติจัดตั้งเขตปลอดอากรต้องไม่นำที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ ส่วนควบและอุปกรณ์ซึ่งใช้เป็นระบบสาธารณูปโภคหรือที่ดินที่ใช้เพื่อบริการสาธารณะ และเครื่องมือ เครื่องใช้ อุปกรณ์สำนักงานและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ไปใช้เป็นหลักประกันหนี้หรือก่อให้เกิดภาระผูกพันไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม

(8) ผู้ได้รับอนุมัติจัดตั้งเขตปลอดอากรต้องดำเนินการจัดทำสัญญาประกันและทัณฑ์บน เพื่อประกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่กรมศุลกากร และเพื่อผูกพันให้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับที่กรมศุลกากรกำหนดและต้องชำระค่าธรรมเนียมสำหรับเขตปลอดอากร ตามที่รัฐมนตรีกำหนดในกฎกระทรวง

(9) ผู้ได้รับอนุมัติจัดตั้งเขตปลอดอากรต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง และประกาศกรมศุลกากรไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง และประกาศกรมศุลกากรที่ใช้บังคับอยู่แล้วหรือที่จะออกใช้บังคับต่อไปในภายหน้า

 
ขอขอบคุณข้อมูล : http://vaa-csc.blogspot.com
 
Free Zone Operator © 2006-2009